National Health Security Office Region 8 Udonthani

ความเป็นมา


     สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อสานต่อนโยบายรัฐบาลในการสร้างหลักประกันสุขภาพ ให้ครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รับบริการที่มีคุณภาพตามความจำเป็น อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ด้วยระบบบริหารจัดการและการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนในการเลือกหน่วยบริการของตนเอง รวมถึงการที่ผู้ให้บริการมีความสุขและสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับบริการด้วย 

     สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มีความมุ่งมั่นและพร้อมจะทุ่มเทสรรพกำลัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและพันธกิจดังกล่าว  โดยจะแสวงหาองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ในการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นจริงสมตามเจตนารมณ์ของกฏหมายต่อไป  

     ทีมงานผู้บริหารและคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกคน พร้อมจะดำเนินการตามพันธกิจดังกล่าวต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และจะเร่งสร้างบรรยากาศการทำงานใหม่ๆให้เกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรที่เปลี่ยนไป โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ "สุขภาวะ" ของคนไทยทุกคน

พันธกิจ วิสัยทัศน์

         "ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ"

logo สปสช.

ความหมายของ logo สปสช.

ที่มาของ logo

     เดิมมีการจัดประกวด logo ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในช่วงแรกมีการใช้คำว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" ดังนั้น จึงมีคำว่า 30 พร้อมกับรูปคน 3 คนอยู่ในเลข 0 ต่อมาเมื่อมี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงทำให้มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นเพื่อมาทำหน้าที่ในการบริหารงานหลักประกันสุขภาพ เลขาธิการ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จึงเปลี่ยนแปลง logo ใหม่ให้เหมาะสมโดยตัดเลข 3 ออก แล้วให้เลข 0 (ที่มีคน 3 คนอยู่ข้างในเลข 0) นั้น ไปอยู่ในกากบาทสีน้ำเงิน โดยที่เลข 0 นั้นจะปั๊มนูนลอยขึ้นมา
ความหมาย
     เลข 0 พร้อมมีรูปคน 3 คนอยู่ภายใน(เลข 0 ลอยนูนออกมา) มีความหมายว่า ประชาชนหลากหลาย(แทนด้วยคน 3 คน) มีการสร้างเสริมสุขภาพนำหน้า(แทนด้วยการทำให้เลข 0 ที่มีคน 3คนนูนออกมา) แต่ว่าถ้ามีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ประชาชนเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลได้ทั่วทุกคน(แทนด้วยกากบาทสีน้ำเงิน)
กากบาทสีน้ำเงิน มีความหมายว่า ระบบบริการสาธารณสุขที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกคน สีน้ำเงินหมายถึงความครอบคลุมหรือถ้วนหน้านั่นเอง(สีน้ำเงินในทางสากลหมายถึงท้องฟ้าหรือทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาลที่เปี่ยมด้วยสันติสุข)
สรุปความหมายของ logo สปสช.
     ประชาชนชาวไทยเริ่มต้นด้วยการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อมีการเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงระบบการให้บริการรักษาพยาบาลกันได้อย่างถ้วนทั่ว ภายใต้ความสันติสุขในสังคมไทย

อำนาจหน้าที่
สปสช . มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ดังนี้

  1. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน คณะอนุกรรมการของคณะกรรมการ ดังกล่าว และคณะกรรมการสอบสวน
    2. เก็บ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานการบริการสาธารณสุข
    3. จัดให้มีทะเบียนผู้รับบริการ หน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ
    4. บริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
    5. จ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกำหนดให้แก่หน่วยบริการ และ เครือข่ายหน่วยบริการ ตามมาตรา 46
    6. ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ
    7. ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีหน่วยบริการประจำ และการขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำรวมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ ประชาชนทราบข้อมูลของหน่วยบริการ
    8. กำกับดูแลหน่วยบริการและเครือข่ายบริการในการให้บริการสาธารณสุขให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด และอำนวยความสะดวกในการเสนอเรื่องร้องเรียน
    9. ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพย์สินต่าง ๆ
    10. ก่อตั้งสิทธิและทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
    11. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
    12. มอบให้องค์กรอื่นหรือบุคคลอื่นทำกิจการที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน
    13. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการและคณะกรรมการควบคุม คุณภาพ และมาตรฐาน และเผยแพร่ต่อสาธารณชน
    14. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฏหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่ คณะกรรมการหรือคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานมอบหมาย